วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553

"Topic" กับ は/が

วันนี้ได้ฟังความรู้เรื่อง Topic มาจากเพื่อน คือไม่ได้ฟังทั้งหมดอาจจะมีความรู้ตกหล่นไปบ้างก็ขออภัย

Topic คือ สิ่งที่ถูกยกขึ้นมาโดยผู้พูดและผู้ฟังมีความเข้าใจตรงกัน

เช่น "นิดตีเพื่อนของเธอเอง" ประโยคนี้ นิด เป็น Topic ของประโยค เพราะผู้พูดและผู้ฟังต่างก็รู้จักว่านิดคือใคร ถ้าหากผู้ฟังไม่รู้จักนิด ประโยคต้องเปลี่ยนไปเป็น "คนที่ชื่อนิดตีเพื่อนของเธอเอง"
รายละเอียดของ Topic ยังมีอีกมาก แต่ขอละไว้เท่านี้ก่อน มิเช่นนั้นคงต้องพิมพ์อีกยาวเลย

อย่างที่พวกเรารู้ ๆ กันอยู่แล้วว่า は ใช้เมื่อเป็น Topic ของประโยคนั้น ๆ
เพราะฉะนั้นผมจะนำเรื่อง Topic นี้มาวิเคราะห์แยกแยะการใช้ は/が

จากบทวิจัยของKnud Lambrecht เขาได้ยกตัวอย่างมาจำนวนหนึ่งมในการใช้ は/が โดยใช้เรื่องTopicนี้อธิบาย

ตัวอย่างแรก
A. What's the matter? B. How's your neck?
(どうしたの?) (はどうしたの?)
1. My neck is HURT. 1. It(my neck) is Hurt.
2. 首が痛い。   2. (は)痛い。

จากตัวอย่างนี้เราจะดูจากทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น เพื่อจะได้เข้าใจง่ายขึ้น
ลองเปรียบเทียบฝั่งA กับฝั่งB ดู สิ่งต่างกันคือคำถาม กับ は/が
การที่ฝั่งA ถามว่า What's the matter? เป็นการถามโดยภาพรวมไม่ได้เจาะจง
คนตอบก็ตอบว่า My neck is hurt. และ 首が痛い。ตามลำดับ ในบทสนทนานี้ คำว่า "คอ" ปรากฏขึ้นครั้งแรก จึงไม่เป็น Topic ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น

ทำไมการปรากฏครั้งแรกถึงไม่เป็น Topic? เพราะผู้พูดกับผู้ฟังไม่มีความเข้าใจร่วมกันตั้งแต่แรกไง เนื่องจากการถามของผู้ถามเป็นการถามโดยรวมว่าเจ็บตรงไหน ต้องรอคนตอบตอบว่าคอ จึงรู้ว่าเป็นคอ เมื่อไม่มีความเข้าใจร่วมกันตั้งแต่แรกก็เป็น Topic ไม่ได้

ในขณะที่ฝั่งB มีการเอ่ยคำว่า "คอ" ตั้งแต่ประโยคคำถามแล้ว และก็มีความเข้าใจร่วมกันด้วยว่าเป็นคอของผู้ถูกถาม ทำให้คำตอบจึงเป็น It is hurt. และ 痛い。ในที่นี้ คำว่า My neck และ 首 เป็น Topic ที่ทำตัวสีแดงไว้เพื่อให้เห็นว่า มันมีความเข้าใจร่วมกัน เพราะมีการกล่าวมาก่อนหน้าที่ผู้ตอบจะตอบคำถาม งงมั้ยเนี่ย แต่ที่คนทั่วไปไม่ตอบว่า My neck is hurt และ 首は痛い。นั้นเป็นเพราะอะไร ลองมาฟังคุณ Knud อธิบายกัน

ที่จริงแล้วตามทฤษฎีควรตอบว่า 首は痛い。เพราะ 首 เป็น Topic แต่ว่าในการใช้จริงจะตอบแค่ 痛い เฉยๆ ในเรื่องนี้คุณ Knud Lambrecht อธิบายไว้ว่าเวลาตอบคำถามในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลเดิมในรูปเดิมอีก ก็เหมือนกับที่ภาษาอังกฤษเปลี่ยนจาก My neck ไปใช้คำว่า It แทน

ตัวอย่างที่สอง
John arrived
ジョンが来た。
ประโยคนี้ไม่เป็น Topic จึงใช้ が เหตุผลที่นาย Knud Lambrecht อธิบายก็คือ มันเป็น "neutral description" จึงไม่ต้องมี Topic

ด้วยข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมด ผมลองมาคิดดูว่าถ้าเราอยากพูดว่า ジョンは来た。ต้องเป็นสถานการณ์แบบไหน ก็ได้คำตอบว่า ต้องเป็นสถานการณ์ที่เรากำลังรอคนอยู่หลายคน แล้วถามว่ามากันหมดแล้วรึยังดังนี้

Has everybody arrived? 皆、来た?
John has arrived. But other people haven't.
ジョンは来た。でも、他の人は来ていない。
รูปแบบนี้ก็จะตรงกับหลักการใช้ は ในการเปรียบเทียบ แต่ถ้าอธิบายตามหลักของ Knud ก็จะได้ว่า คนถามกับคนตอบมีความเข้าใจตรงกันว่า John คือใคร และรู้ว่า John คือหนึ่งในจำนวนทั้งหมด จึงใช้ は ได้ ส่วนคำว่า 他の人 ใช้ は ได้เหมือนกันเพราะเป็นสิ่งที่ผู้พูดกับผู้ตอบรู้ตรงกันว่าเป็นจำนวนคนที่เหลือนอกจาก John ซึ่งมันก็เกิดการกล่าวมาแล้วในคำว่า 皆 นั่นเอง

หวังว่าที่เราเข้าใจเนี่ย ไม่ผิดหรือบกพร่องอะไรไปนะ

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2553

敬語/謙譲語

เมื่อวานเข้าร่วมกิจกรรม 「書き初め」 จัดขึ้นโดย 林先生และ 池谷先生
ถึงแม้ว่าจะเคยเรียนที่ญี่ปุ่นมาบ้างแต่ทำได้ไม่ดีเอาเสียเลย
แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับนักเรียนทุกคน นอกจากนี้ยังได้พบ 林先生 อีกครั้งด้วย

วันก่อนหน้านั้นได้ส่งอีเมล์ให้ 林先生 และต้องการจะพูดว่า "ดีใจที่จะได้พบอาจารย์อีกครั้ง"
ทีแรกก็นึกถึงคำว่า 再会する แต่ก็รู้สึกว่าไม่น่าจะเหมาะ เลยเปลี่ยนมาใช้คำว่า お目にかかる แต่ก็ยังคงเกิดปัญหาอีกก็คือ ตั้งใจว่าจะใช้เป็นรูป 可能形 เหมือนภาษาไทยที่ว่า "ได้พบ" จึงตัดสินใจเขียนไปว่า "お目にかかれる" เพื่อให้ได้ความหมายที่ต้องการ ตอนนั้นก็ไม่มั่นใจว่าสามารถใช้คำนี้ในรูป 可能形 ได้หรือเปล่า แต่รู้สึกเหมือนเคยเห็นคนญี่ปุ่นใช้มาก่อนเลยใช้คำนี้ไป ตอนนี้ก็คิดว่าคงจะเขียนได้ไม่มีปัญหา

พอถึงวันที่เขียนจริง ก็ได้พบกับ 林先生 ตัวจริงรู้สึกตื่นเต้นมาก จนจำไม่ค่อยได้ว่าตัวเองพูดกับอาจารย์ด้วยภาษาระดับไหนไปบ้าง แต่ที่จำได้มีอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ ตอนพักครึ่งเวลาอาจารย์แจกขนมให้นักเรียนทานกันอย่างเอร็ดอร่อย เราก็เห็นว่าอาจารย์ยังไม่ได้ทานมัวแต่ทำอย่างอื่นอยู่ เลยถามอาจารย์ไปว่า

「お召し上がりませんか」
林先生 ก็ตอบกลับมาว่า 「いただこう」
แล้วอาจารย์ก็เดินไปหยิบกล่องขนมมาทาน

ปัญหาก็คือคำที่เราพูดไปนั้น กลับมามองดูอีกทีมันผิดไวยากรณ์ชัดๆ (การใส่おไว้ข้างหน้าคำ)
แต่เรื่องนั้นไม่ติดใจเท่ากับที่เราใช้รูป 「~ませんか」
ที่จริงแล้วในตอนนั้นเราคิดจะพูดว่า 「お召し上がらないんですか?」ยังผิดไวยากรณ์เหมือนเดิมแต่ต่างกันที่ท้ายคำ เราคิดว่ามันอาจจะไม่สุภาพเลยเปลี่ยนมาพูดแบบตัวสีฟ้าข้างบนแทน

ตกลงใน 敬語 ใช้รูป「~ないんですか」ได้หรือเปล่า? และความหมายตากันหรือเปล่า?
ลองมาคิดดูผมว่าความหมายมันต่างกันนิดหนึ่งนะ

「~ませんか」เป็นการเชิญชวนเหมือนที่อ.กนกวรรณได้สอนในห้องไปแล้ว
ในขณะที่「~ないんですか」เป็นคำถามที่ว่า "ไม่กินเหรอ?" ทำนองนี้เสียมากกว่า

การเลือกว่าจะใช้อันไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์และจุดประสงค์ของเรา
ซึ่งสถานการณ์ในตอนที่เราถาม 林先生 เราคิดว่าขนมหมดแล้วจึงยื่นของเราให้อาจารย์แล้วถาม ซึ่งในเชิงไวยากรณ์ของภาษาไม่มีปัญหากับสถานการณ์นี้ สรุปคือน่าจะเลือกใช้ถูกแล้ว

แต่ถ้าเป็นสถานการณ์ที่เรารู้ว่ามีขนมครบจำนวนคน แล้วจะถามว่า "อาจารย์ไม่ทานหรือ" ก็ต้องใช้「~ないんですか」ส่วนเรื่องความเหมาะสมว่าเป็น敬語แล้วจะใช้รูปนี้ได้หรือไม่นั้นไม่แน่ใจเท่าไร แต่ถ้าเป็นผมผมก็จะใช้

คำต่อมาคือคำว่า 分かる 林先生 ฟังภาษาไทยที่เราพูดกันออกบ้าง เราเห็นดังนั้นเลยถามอาจารย์ไปทันทีว่า 「先生はタイ語が分かるんですか」

ก็มานั่งนึกทีหลังว่าคำว่า 分かる มีคำ 敬語 อะไรบ้าง คำที่โผล่มาในหัวก็มี
「分かられる」「ご存知」 2 คำนี้

คิดไปคิดมา คำว่า「分かられる」น่าจะดีที่สุด เพราะ ご存知 ยังไม่ตรงเท่าไร
คิดไปคิดมามันยากเหมือนกันนะเนี่ย เฮ้อ 敬語/謙譲語

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

着地

วันนี้นั่งทำการบ้าน Task 5 revised ของอาจารย์กนกวรรณ พอเขียนมาถึงตอนจบก็มาสะกิดใจ(ไม่ได้เป็นญาติกะพี่ป๋อนะ)ว่าถ้าเราใสข้อความที่เป็นความเห็นของเราลงไปน่าจะทำให้เนื้อเรื่องสนุกขึ้น ยกตัวอย่างเป็นเรื่องที่ส่งอาจารย์ไปเมื่อกี้ละกัน

(前略)そのニュースでは彼女が乗っているはずだった飛行機がエンジンの故障で墜落してしまったんだって。彼女はもしその飛行機に乗っていたら、どうなっているだろうと思ったらしい。乗らなくて本当に良かったとも思ったって。これは不運の幸運と言えるだろうね。

เมื่อก่อนเวลาจะจบก็จะจบแค่ 乗らなくて本当に良かったとも思ったって。ซึ่งแม้แต่ตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่ามันโอเค แต่พอลองใส่ส่วนที่เป็นตัวอักษรสีฟ้าที่เป็นความเห็นของเราเองลงไป จุดเด่นของเนื้อเรื่องจะถูกดึงมาสรุปตรงนี้อย่างลงตัว อาจฟังดูเหมือนยกตัวเองแต่นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่าง แน่นอนว่ามีตัวอย่างที่ดีกว่านี้อีก ซึ่งก็คือ การเล่าเรื่อง 4コマ漫画 ของ 池谷先生

 (前略)その体格のいい女性は平然とわずかな隙間に座ったので、両脇の男性は押されて、苦しそうにしています。特にドアの近くの端の席に座った男性は棒を両手でつかんで痛そうにしています。けっきょく、三太郎はこうして男性たちに仕返しをしたのではないでしょうか

ตัวอย่างนี้ สามารถจบได้ตรงก่อนตัวอักษรสีฟ้า แต่池谷先生กลับเลือกที่จะใส่ส่วนสีฟ้าลงไป เพื่อสร้างอรรถรสของเรื่องราวเพิ่มขึ้น

การจบแบบนี้จะเป็นสไตล์ของญี่ปุ่นมากกว่าไทย นั่นก็คือ 起承転結 นั่นเอง แล้ว 4コマ漫画 ก็ใช้โครงสร้างนี้ในการดำเนินเรื่องด้วยเช่นกัน เพราะเหตุนี้แหละมั้งที่ทำให้เราไม่ค่อยได้นึกถึงและเขียนลงไปในงานของเราเอง

การจบเรื่องแบบนี้ก็เป็นเหมือนกับที่อาจารย์กนกวรรณ และ中山先生 ได้สอนไว้ในแกรมมาร์และการเขียนเรียงความ นั่นก็คือขั้นตอน 着地 ของ ホップ・ステップ・ジャンプ・着地 ดูไปดูมาแล้ว 着地 เป็นจุดเด่นในวัฒนธรรมการสื่อสารของญี่ปุ่น ถ้าเราหัดตรงนี้ให้ได้ก็น่าจะทำให้การสื่อสารของเราสู่ชาวญี่ปุ่นดีขึ้นด้วยก็เป็นได้

บล็อคนี้เขียนสั้นๆ แต่ได้ใจความ(หรือเปล่า)